ในทุก ๆ ปี เจ้าของรถยนต์ทุกคันจะต้องจ่ายค่าภาษีรถยนต์ ซึ่งรถแต่ละคันจะมีรายละเอียดการจ่ายภาษีที่แตกต่างกันออกไป วันนี้เราจะมาบอก 10 เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับภาษีรถยนต์มาฝากกัน เพื่อที่จะจ่ายเงินค่าภาษีได้อย่างถูกต้อง ไม่เสี่ยงโดนค่าปรับย้อนหลัง
1. ค่าภาษีรถยนต์แต่ละประเภทต้องเสียเท่าไร
ภาษีรถยนต์แต่ละประเภท แต่ละคัน และแต่ละปีจะเสียไม่เท่ากัน โดยเราสามารถตรวจสอบภาษีที่ต้องจ่ายได้ที่ด้านหลังป้ายภาษีรถยนต์ หรือเว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งโดยทั่วไปมีการคิดอัตราภาษีดังต่อไปนี้
รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง
คำนวณตาม CC รถยนต์ที่ระบุไว้ในเล่มทะเบียนรถ
- ไม่เกิน 600 CC เสียภาษี 300 บาท
- ส่วนเกิน 600-1,800 CC เสียภาษี 1.50 บาทต่อ CC
- ส่วนเกิน 1,800 CC เสียภาษี 4.00 บาท ต่อ CC
นอกจากนี้ยังมีส่วนลดสำหรับรถยนต์ที่มีอายุการใช้งาน 6 ปีขึ้นไป โดยปีที่ 6 จะมีส่วนลด 10% ปีที่ 7 ลด 20% ปีที่ 8 ลด 30% ปีที่ 9 ลด 40% และปีที่ 10 ลด 50%
รถยนต์ส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง
คำนวณตามน้ำหนักรถที่อยู่ในเล่มทะเบียนรถ ดังนี้
- 0-500 กิโลกรัม เสียภาษี 150 บาท
- 501-750 กิโลกรัม เสียภาษี 300 บาท
- 751-1,000 กิโลกรัม เสียภาษี 450 บาท
- 1,001-1,250 กิโลกรัม เสียภาษี 800 บาท
- 1,251-1,500 กิโลกรัม เสียภาษี 1,000 บาท
- 1,501-1,750 กิโลกรัม เสียภาษี 1,300 บาท
- 1,751-2,000 กิโลกรัม เสียภาษี 1,600 บาท
- 2,001-2,500 กิโลกรัม เสียภาษี 1,900 บาท
- 2,501-3,000 กิโลกรัม เสียภาษี 2,200 บาท
- 3,001-3,500 กิโลกรัม เสียภาษี 2,400 บาท
- 3,501-4,000 กิโลกรัม เสียภาษี 2,600 บาท
- 4,001-4,500 กิโลกรัม เสียภาษี 2,800 บาท
- 4,501-5,000 กิโลกรัม เสียภาษี 3,000 บาท
- 5,000-6,000 กิโลกรัม เสียภาษี 3,200 บาท
- 6,000-7,000 กิโลกรัม เสียภาษี 3,400 บาท
- มากกว่า 7,000 กิโลกรัม เสียภาษี 3,600 บาท
รถบรรทุกส่วนบุคคล
คำนวณตามน้ำหนักรถที่อยู่ในเล่มทะเบียนรถ ดังนี้
- 0-500 กิโลกรัม เสียภาษี 300 บาท
- 501-750 กิโลกรัม เสียภาษี 450 บาท
- 751-1,000 กิโลกรัม เสียภาษี 600 บาท
- 1,001-1,250 กิโลกรัม เสียภาษี 750 บาท
- 1,251-1,500 กิโลกรัม เสียภาษี 900 บาท
- 1,501-1,750 กิโลกรัม เสียภาษี 1,050 บาท
- 1,751-2,000 กิโลกรัม เสียภาษี 1,350 บาท
- 2,001-2,500 กิโลกรัม เสียภาษี 1,650 บาท
- 2,501-3,000 กิโลกรัม เสียภาษี 1,950 บาท
- 3,001-3,500 กิโลกรัม เสียภาษี 2,250 บาท
- 3,501-4,000 กิโลกรัม เสียภาษี 2,550 บาท
- 4,001-4,500 กิโลกรัม เสียภาษี 2,850 บาท
- 4,501-5,000 กิโลกรัม เสียภาษี 3,150 บาท
- 5,000-6,000 กิโลกรัม เสียภาษี 3,450 บาท
- 6,000-7,000 กิโลกรัม เสียภาษี 3,750 บาท
- มากกว่า 7,000 กิโลกรัม เสียภาษี 4,050 บาท
รถประเภทอื่น ๆ จัดเก็บแบบรายคัน
- รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลและสาธารณะ คันละ 100 บาท
- รถพ่วงข้างจักรยานส่วนบุคคล คันละ 50 บาท
- รถพ่วงชนิดอื่น ๆ คันละ 100 บาท
- รถบดถนน คันละ 200 บาท
- รถเพื่อการเกษตร คันละ 50 บาท
รถยนต์พลังงานไฟฟ้า
- รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน ให้เก็บตามน้ำหนักของรถในอัตรารถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน
- รถไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ ให้เก็บครึ่งหนึ่งของรายคันและน้ำหนัก
2. เอกสารที่ต้องเตรียมในการต่อภาษี มีอะไรบ้าง
ในการต่อภาษีแต่ละครั้ง เจ้าของรถจะต้องเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้
- หนังสือแสดงการจดทะเบียนรถ (ถ้ามี) หรือใบแทน
- หลักฐานการจ่าย พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535
- หลักฐานการตรวจสภาพรถ สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลอายุเกิน 7 ปีขึ้นไป และรถจักรยานยนต์อายุเกิน 5 ปีขึ้นไป
3. เราจ่ายภาษีได้ล่วงหน้ากี่เดือน
เราสามารถต่อภาษีล่วงหน้าได้ 90 วันก่อนวันครบกำหนด หากว่าใครขี้ลืมสามารถตั้งเตือนเอาไว้ หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เพื่อแจ้งเตือนการต่อภาษีรถยนต์ล่วงหน้า
4. ถ้าไม่จ่ายภาษีรถยนต์มีค่าปรับหรือไม่
มีแน่นอน และหากว่าเราขาดต่อภาษีนาน ๆ อาจจะถูกระงับทะเบียนและต้องเสียค่าปรับ ในกรณีที่เราจ่ายค่าภาษีรถยนต์ช้ากว่ากำหนดจะต้องเสียค่าปรับ 1% ต่อเดือน และหากขาดการต่อภาษีมากกว่า 3 ปี ป้ายทะเบียนจะถูกยกเลิก และต้องนำไปคืนกับกรมการขนส่งทางบก หากต้องการต่อทะเบียนใหม่จะต้องแจ้งขอจดทะเบียนใหม่ พร้อมชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด
5. รถไม่ได้ใช้งานต้องจ่ายภาษีประจำปีหรือเปล่า
ต้องจ่าย แม้ว่าจะเป็นรถที่จอดทิ้งเอาไว้เฉย ๆ ก็ตาม โดยทำตามขั้นตอนและมีค่าใช้จ่ายเหมือนกับรถคันอื่น ๆ ทุกประการ แต่หากว่าเรามั่นใจว่าจะไม่ใช้รถยนต์คันนี้แล้ว ต้องการจอดรถเอาไว้เฉย ๆ หรือรถสูญหาย ให้เราไปแจ้งการไม่ใช้รถที่สำนักงานขนส่งที่จดทะเบียน
6. มีใบสั่งจราจรที่ยังไม่ได้จ่ายค้างอยู่ ต่อภาษีได้หรือไม่
สามารถต่อภาษีได้ แต่จะได้ป้ายชั่วคราวที่มีอายุ 30 วัน หลังจากที่จ่ายค่าปรับแล้ว ถึงค่อยมารับป้ายภาษีตัวจริงได้ แต่หากว่าไม่ยอมจ่ายค่าปรับจราจร อาจจะต้องเสียค่าปรับสูงสุด 2,000 บาท และถูกตัดคะแนนจราจร
7. รถทุกคันต้องตรวจสภาพรถก่อนต่อภาษีหรือไม่
ไม่ทุกคัน เฉพาะรถที่ใช้งานมานานเท่านั้น โดยกฎหมายกำหนดให้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่อายุเกิน 7 ปี ต้องตรวจสภาพรถก่อนต่อภาษีทุกครั้ง
8. วิธีต่อภาษีแบบออนไลน์ต้องทำอย่างไร
ปัจจุบันเราสามารถต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ได้ ตามขั้นตอนง่าย ๆ ดังต่อไปนี้
ชำระผ่านเว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก
-
เข้าไปที่เว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบก คลิกที่นี่ จากนั้นลงทะเบียนและ Log in เพื่อใช้งาน
-
กดเมนู “ยื่นชำระภาษีรถยนต์ประจำปี” และกรอกรายละเอียดต่าง ๆ ให้ครบถ้วน หากยังไม่ได้ซื้อ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถสามารถซื้อออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ได้เลย
-
ชำระเงินออนไลน์ หรือไปชำระที่เคาน์เตอร์บริการ หรือตู้เอทีเอ็ม
-
รอรับป้ายภาษีพร้อมใบเสร็จรับเงินตามที่อยู่ที่ได้แจ้งเอาไว้
ชำระผ่านแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax
- ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันและลงทะเบียนเพื่อใช้งาน
- เข้าเมนู “ชำระภาษีรถ” กรอกข้อมูลผู้ครอบครองรถยนต์ เลือกประเภทรถ และกรอกข้อมูลทะเบียนรถ
- เลือกสถานที่รับป้ายภาษี สามารถเลือกได้ทั้งทางไปรษณีย์และตู้ Kiosk ของกรมการขนส่งทางบก (เฉพาะในกรุงเทพฯ)
- ชำระเงิน
9. ภาษีรถยนต์กับ พ.ร.บ.รถยนต์ เป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่
เป็นคนละอย่างกัน และต้องเสียทุกปีเหมือนกัน
ภาษีรถยนต์ คือ การจ่ายภาษีสำหรับผู้ที่ใช้รถ โดยจะนำเงินภาษีส่วนนี้ไปพัฒนาโครงการด้านคมนาคมขนส่งในประเทศ เช่น การก่อสร้างและดูแลรักษาถนน ระบบสัญญาณจราจร และโครงการอื่น ๆ
ส่วน พ.ร.บ.รถยนต์ หรือชื่อเต็มคือ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 คือ ประกันรถยนต์ภาคบังคับ โดยจะคุ้มครองกรณีบาดเจ็บ เสียชีวิต และเสียชีวิตหลังจากรักษาพยาบาล รวมถึงกรณีสูญเสียอวัยวะ/ทุพพลภาพอย่างถาวร หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง โดยก่อนที่จะต่อภาษีรถยนต์ เราจะต้องทำ พ.ร.บ.รถยนต์ให้เรียบร้อยก่อน จึงจะสามารถต่อภาษีได้
10. เราสามารถไปต่อภาษีวันเสาร์-อาทิตย์ได้หรือไม่
เราสามารถต่อภาษีในวันหยุดได้ตามช่องทางออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังสามารถต่อภาษีที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสได้เช่นเดียวกัน
นี่คือข้อควรรู้เกี่ยวกับการต่อภาษีรถยนต์ทั้ง 10 ข้อ ซึ่งการต่อภาษีรถยนต์ตามช่วงเวลาที่กำหนดจะช่วยให้เราไม่ต้องจ่ายค่าปรับเพิ่ม ขับขี่ได้อย่างสบายใจ นอกจากนี้แนะนำให้เพิ่มความอุ่นใจในทุกการขับขี่ ด้วยประกันรถชั้น 3 จาก SOMPO ตามใจ ราคาไม่แพง เลือกระยะเวลาและความคุ้มครองได้ตามใจ โดยไม่มีเงื่อนไขผูกมัด พร้อมบริการรับแจ้งอุบัติเหตุได้ตลอด 24 ชั่วโมง ดูแลทันทีหากเกิดอุบัติเหตุ สนใจซื้อง่าย ผ่านช่องทางออนไลน์ได้เลย
ข้อมูลอ้างอิง
- ภาษีรถยนต์ ทำไมต้องต่อทุกปี มีวิธีและขั้นตอนอย่างไร. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://portal.info.go.th/
About The Author
บทความอื่นๆจากซมโปะ