ตรวจสอบสัญญาณของระบบเบรกรถยนต์

แน่นอนว่าเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินในการเดินทาง ‘ระบบเบรก’ นับว่าเป็นหนึ่งในระบบความปลอดภัยที่มีความสำคัญมากที่สุดสำหรับยานพาหนะ เพราะสามารถหยุดรถเพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ หรือลดความรุนแรงของเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งคงไม่ดีแน่หากผู้ขับขี่ไม่เคยสังเกตระบบเบรกให้ดีและปล่อยเลยไปจนไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ การหมั่นสังเกตสัญญาณเตือนต่าง ๆ ที่บ่งบอกว่าเบรกรถยนต์กำลังมีปัญหาจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อความปลอดภัยของตนเองและผู้ใช้ท้องถนน ซึ่งหากสงสัยว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าระบบเบรกมีปัญหาและจะสามารถแก้ไขได้อย่างไร มาติดตามพร้อมกันได้ในบทความนี้

อาการต้องสังเกตจากสัญญาณของเบรกรถยนต์

สำหรับผู้ที่ขับขี่รถยนต์เป็นประจำอาจต้องคอยหมั่นสังเกตอาการที่เกิดขึ้นเมื่อเหยียบเบรกให้ดี หากเบรกเริ่มมีอาการเหล่านี้ ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอันตรายที่ควรได้รับการดูแล

มีเสียงดังขณะเบรก

หากเมื่อไรที่เหยียบเบรกแล้วมีเสียงดังเหมือนโลหะเสียดสีกันแล้วเมื่อปล่อยเบรกเสียงเงียบลง อาจเกิดจากจานเบรกเสื่อมสภาพ หรือผ้าเบรกหมด ทำให้เกิดการเสียดสีกัน แต่หากเป็นเสียงบด นั่นอาจเป็นเพราะมีเศษฝุ่นทรายเข้าไประหว่างผ้าเบรกและจานเบรก

เหยียบเบรกแล้วรถสั่น

อาการเหยียบเบรกแล้วรถสั่น เกิดการกระตุก อาจมีสาเหตุจากจานเบรกคด บิดตัว โก่ง หรือเอียง ซึ่งเกิดจากการเหยียบเบรกอย่างรุนแรงเป็นประจำ หรืออาจเกิดจากการชำรุดภายในของระบบ เช่น การขับรถลุยน้ำทำให้จานเบรกที่มีความร้อนสัมผัสกับน้ำจนเกิดการบิดตัว ทำให้ผ้าเบรกไม่สามารถสัมผัสกับจานเบรกเพื่อทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หรือลูกปืนของล้อรถหลวม นอตที่ล้อหลวม

เกิดอาการเบรกจม

ถ้ารู้สึกว่าต้องเหยียบเบรกลึกกว่าปกติกว่ารถจะหยุด หรือขณะเหยียบเบรกค้างไว้แล้วแป้นเบรกจมลง ให้ต้องสงสัยไว้เลยว่าอาการนี้อาจเกิดจากผ้าเบรกหมดหรือสึกหรอจนบางเกินไป ทำให้เบรกทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้เบรกจมจนต้องเหยียบลึกกว่าปกติ

เบรกมีกลิ่นไหม้

เบรกมีกลิ่นไหม้ เริ่มเป็นสัญญาณอันตรายที่เกิดจากการเหยียบเบรกรุนแรงหลายครั้งอย่างต่อเนื่อง หรือเหยียบเบรกบ่อยในขณะขึ้นลงเขาทำให้เบรกเกิดความร้อน ซึ่งหากฝืนขับรถต่อไปอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ จึงควรจอดเพื่อพักรถจนกว่าเบรกจะเย็นลง หรือหากต้องขับรถขึ้นลงเขา ให้ใช้เกียร์ต่ำเพื่อชะลอความเร็ว

เริ่มเบรกไม่อยู่

เป็นอาการที่แม้จะเหยียบเบรกจนสุดแล้วรถก็ยังไม่หยุดเคลื่อนไหว หรือที่เรียกกันว่าอาการเบรกแตก อาจเกิดจากเบรกรั่ว ท่อทางระบบเบรกแตก หรือชิ้นส่วนระบบเบรกหลวม ซึ่งหากเกิดปัญหานี้ ควรพยายามบังคับรถไปในเลนปลอดภัย แล้วค่อยชะลอความเร็วและดึกเบรกมือเป็นจังหวะ โดยห้ามดึงเบรกมือแรงในทันที เพราะอาจทำให้รถพลิกคว่ำได้

การดูแลระบบเบรกรถยนต์

ยืดอายุเบรกรถยนต์อย่างไรให้ใช้งานได้นาน

เพื่อป้องกันไม่ให้เบรกรถยนต์เกิดปัญหาระหว่างทาง การดูแลรักษาเป็นประจำสามารถช่วยยืดอายุการใช้งานของเบรกรถยนต์ ซึ่งสามารถช่วยปกป้องความปลอดภัยบนท้องถนนของคุณ

เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรก

ตามปกติแล้วน้ำมันเบรกจะทำหน้าที่เป็นตัวหล่อลื่นและถ่ายเทแรงดันจากแป้นเบรกไปยังผ้าเบรก ช่วยให้ผ้าเบรกสามารถสัมผัสกับจานเบรกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันการสึกหรอของผ้าเบรกและจานเบรก ซึ่งหากใช้งานไปสักระยะน้ำมันเบรกจะค่อย ๆ ดูดซับความชื้นจากอากาศ ทำให้เสื่อมสภาพและมีประสิทธิภาพลดลง จนอาจเกิดอันตรายได้ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรกจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งควรเปลี่ยนถ่ายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือทำตามคำแนะนำของบริษัทรถยนต์

ตรวจสอบผ้าใบเบรกรถยนต์

ผ้าใบเบรก เป็นส่วนที่สัมผัสกับจานเบรกโดยตรง โดยจะทำหน้าที่ในการหยุดล้อรถ ซึ่งเมื่อผ้าเบรกสึกหรอจากการใช้งาน จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเบรกที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ การตรวจสอบว่ายังใช้งานได้ดีหรือไม่จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยสามารถสังเกตได้จากระยะการเหยียบแป้นเบรก หากพบว่าต้องใช้แรงกดมากกว่าเดิม หรือเมื่อเหยียบไปแล้วมีเสียงโลหะเสียดสีกัน ควรตรวจสอบผ้าใบเบรก โดยหากพบว่ามีความหนาน้อยกว่า 4 มม. ก็ควรทำการเปลี่ยนทันที

เช็กความพร้อมจานเบรกรถยนต์

นอกจากผ้าใบเบรกแล้ว จานเบรกก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะต้องสัมผัสกับผ้าเบรกโดยตรง โดยทำหน้าที่ในการรับแรงเสียดสีจากผ้าเบรกและหยุดล้อรถ ซึ่งหากจานเบรกสึกหรอจากการใช้งาน ก็จะส่งผลต่อผ้าเบรกด้วยเช่นกัน ซึ่งหากรอบจานเบรกยังไม่ลึกมาก ก็สามารถเจียให้กลับมาใช้งานอีกครั้งได้ แต่หากจานเบรกมีความเสียหายมากก็ควรเปลี่ยนอันใหม่เลยดีกว่า

เสริมความมั่นใจให้การขับขี่ด้วยการดูแลและหมั่นสังเกตอาการเบรกรถยนต์กันแล้ว ก็อย่าลืมเลือกประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 กับ SOMPO ตามใจ ที่พร้อมดูแลทุกปัญหาอย่างครบถ้วน! โดยให้การคุ้มครองทั้งตัวคุณ รถยนต์ รวมถึงคู่กรณี ในราคาเบี้ยเบา ๆ ซึ่งสามารถเลือกความคุ้มครองได้แบบรายวัน และรายเดือนอย่างไม่มีเงื่อนไขผูกมัด ตอบโจทย์ทุกการเดินทางได้ตามใจ เช็กเบี้ยประกันรถยนต์ชั้น 1 แบบออนไลน์ได้เลย

เช็คเบี้ยประกันรถยนต์ SOMPO ตามใจ

About The Author

บทความอื่นๆจากซมโปะ