การเติมลมยางสำคัญกว่าที่คิด เพราะนอกจากจะช่วยถนอมยางรถยนต์ให้สามารถใช้งานได้ยาวนานกว่าเดิมแล้ว ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่อีกด้วย แต่รู้หรือไม่ว่ารถแต่ละคันเติมลมยางไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับรุ่นรถและการใช้งาน แล้วรถที่ใช้อยู่ควรจะเติมลมยางเท่าไร ถึงจะพอดี ไปดูกันเลย
รถเก๋งควรเติมลมยางเท่าไรถึงจะพอดี ?
โดยปกติแล้ว รถคันไหนควรเติมลมยางเท่าไร จะมีการกำหนดจากทางผู้ผลิตรถยนต์ เพื่อเป็นแนวทางในการเติมลมยางอย่างเหมาะสม ซึ่งรถแต่ละคันก็จะแตกต่างกันไป ผู้ขับขี่สามารถดูได้ที่สติกเกอร์บริเวณขอบประตูฝั่งคนขับได้ นอกจากนี้ ผู้ขับขี่สามารถตรวจสอบตัวเลขที่เหมาะสมในการเติมลมยางได้จากคู่มือรถยนต์ที่ได้มาตอนซื้อรถ
อย่างไรก็ตาม หากถามหาค่าทั่วไปว่ารถเก๋งควรเติมลมยางเท่าไร เรามีค่ากลางเพื่อเป็นแนวทางในการเติมลมยางสำหรับการใช้งานทั่วไปเอาไว้ดังนี้
- รถยนต์ขนาดเล็ก ที่มีขนาดเครื่องยนต์ 660-1000 cc. แนะนำให้เติมลมที่ 30-32 PSI
- รถยนต์ขนาดกลาง แนะนำให้เติมลมที่ 32-34 PSI
- รถ SUV แนะนำให้เติมลมที่ 32-35 PSI
- รถ MPV และรถ PPV แนะนำให้เติมลมประมาณ 32-36 PSI
- รถกระบะไม่บรรทุก แนะนำให้เติมลมที่ 35-40 PSI
- รถตู้ แนะนำให้เติมลมที่ 43-45 PSI
แนวทางการเติมลมยางที่ถูกต้อง
นอกจากจะรู้ว่ารถเก๋งควรเติมลมยางเท่าไรแล้ว ยังมีข้อควรรู้ที่ผู้ขับขี่ต้องพึงปฏิบัติและพึงระวังเอาไว้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ และยืดอายุการใช้งานยางรถยนต์ให้ยาวนานมากขึ้น ดังนี้
เดินทางไกลควรเติมลมยางเพิ่มอีก 3-5 PSI
ในช่วงเทศกาลที่ต้องขับรถเดินทางกลับบ้าน ขับรถไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดไกล ๆ หรือเดินทางข้ามจังหวัดบ่อย ๆ แนะนำให้เติมลมยางเพิ่มขึ้นอีก 3-5 PSI และตรวจเช็กลมยางให้บ่อยมากขึ้น รวมถึงระหว่างเดินทางให้หยุดพักเป็นระยะ และตรวจสอบยางรถยนต์ว่าสามารถใช้งานได้ปกติ เพื่อความปลอดภัย
บรรทุกหนัก เติมลมยางเพิ่มกว่าปกติ
ปกติแล้วทางผู้ผลิตจะแนะนำตัวเลขที่น้ำหนักบรรทุกผู้โดยสาร 1-2 คน ที่มีน้ำหนักประมาณ 75 กิโลกรัม แต่หากว่าในวันดังกล่าวมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น หรือบรรทุกของเพิ่มมากขึ้น แนะนำให้ดูตัวเลขเติมลมยางที่ให้บรรทุกของ หรือเติมเพิ่มมากขึ้นจากเดิม 2-3 ปอนด์ ขึ้นอยู่กับน้ำหนักที่บรรทุก
ควรเติมลมยางในช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก
หลีกเลี่ยงการเติมลมยางในช่วงเที่ยงหรือช่วงบ่าย หรือในช่วงที่อากาศร้อนจัด แนะนำให้เติมลมยางตอนที่ล้อเย็น หรือช่วงที่อากาศไม่ร้อน หากจำเป็นต้องเติมลมยางในช่วงเวลาดังกล่าว แนะนำให้บวกเพิ่มไปอีกประมาณ 2-4 PSI จากปกติ
เช็กลมยางเป็นประจำ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
ควรตรวจเช็กลมยางเป็นประจำ อย่างน้อยเดือนละ 1-2 ครั้ง หากว่าไม่ได้ขับขี่บ่อย ๆ อาจจะเป็น 2 เดือนครั้งได้ ไม่ควรปล่อยให้ลมยางอ่อนแล้วขับในระยะทางไกล ๆ เพราะนอกจากจะทำให้ยางรถยนต์เสื่อมสภาพ ยังกินน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ข้อดีของการเติมลมยางเป็นประจำ
การเติมลมยางเป็นการบำรุงรักษารถยนต์อย่างหนึ่งที่ผู้ขับขี่ควรทำเป็นประจำ โดยมีข้อดีที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
ประหยัดน้ำมัน หรือพลังงานไฟฟ้า
ไม่ว่ารถยนต์จะขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง หรือพลังงานไฟฟ้า การเติมลมยางอย่างเหมาะสมจะช่วยประหยัดพลังงานที่ใช้ในการขับเคลื่อนรถยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการที่ลมยางอ่อนกว่าปกติ เครื่องยนต์จะใช้แรงในการขับเคลื่อนมากกว่าปกติ เพื่อให้รถยนต์สามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้า
ป้องกันการสึกหรอของยาง
การเติมลมยางอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดการสึกหรอของยางได้ และทำให้ยางมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่ารถที่ไม่ค่อยเติมลมยาง หรือใช้ลมยางอ่อนเป็นประจำ
นอกจากนี้ การเติมลมยางไม่เท่ากันทั้งสี่ล้อ ก็อาจจะทำให้ยางเสื่อมไม่เท่ากันอีกด้วย ดังนั้น ควรดูน้ำหนักบรรทุกให้ดี ก่อนที่จะเติมลมยาง
เพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่
การเติมลมยางที่เหมาะสมจะช่วยให้สามารถเร่งทำความเร็วได้ ซึ่งจะช่วยได้มากในยามที่ต้องแซง นอกจากนี้ยังช่วยควบคุมรถและยึดเกาะถนนได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
ลดความเสี่ยงยางระเบิด
ยางรถระเบิดเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นก็คือ การเติมลมยางไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นลมยางที่อ่อนเกินไปและแข็งจนเกินไป ดังนั้น เพื่อลดโอกาสความเสี่ยงที่ทำให้ยางระเบิด แนะนำให้เติมลมยางตามที่ผู้ผลิตแนะนำ โดยเฉพาะเมื่อต้องเดินทางเป็นระยะทางไกล ๆ
วันหยุดยาวขับรถระยะทางไกล ๆ อย่าลืมนำรถไปเช็กความพร้อม รวมถึงการเติมลมยางในระดับที่เหมาะสมกับการขับขี่ และเพิ่มความอุ่นใจ ด้วยการทำประกันรถยนต์แบบรายเดือน Sompo ตามใจ ตอบโจทย์คนใช้รถน้อย ใช้รถแค่บางช่วง จ่ายเบี้ยเบา ๆ แต่ได้รับความคุ้มครองแบบจัดเต็ม ประกันชั้น 1 ราคาเริ่มต้นเพียง 850 บาทต่อเดือน รับส่วนลด 10% เมื่อใช้ต่อเนื่องครบทุก ๆ 6 เดือน ซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ได้เลย
- วิธีการเติมลมยาง?. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 จาก https://www.michelin.co.th/
- ยางร้อนเติมลมได้ไหม? – 5 เหตุผลที่ควรรู้ ก่อนแวะปั๊มเช็กยาง. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 จาก https://nexenthailand.com/
About The Author
บทความอื่นๆจากซมโปะ