ขั้นตอนและช่องทางต่อภาษีรถยนต์
การต่อภาษีรถยนต์เป็นประจำทุกปี เป็นภารกิจสำคัญที่เจ้าของรถจะต้องทำ ซึ่งขั้นตอนการเสียภาษีรถยนต์ในปัจจุบันมีความสบายมากขึ้น และมีหลากหลายช่องทางให้เลือกตามความสะดวก วันนี้เราเลยมาแนะนำช่องทางการต่อภาษีรถยนต์ รวมถึงการเตรียมเอกสารต่าง ๆ ให้พร้อม เพื่อความรวดเร็วและราบรื่น ดังต่อไปนี้

เตรียมเอกสารให้พร้อม

อันดับแรกในการต่อภาษีรถยนต์ ให้เจ้าของรถยนต์เตรียมเอกสารต่าง ๆ ให้พร้อม ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถต่อภาษีได้ โดยมีเอกสารที่ต้องเตรียมดังต่อไปนี้

  • สมุดเล่มทะเบียนรถตัวจริง หรือสำเนา ในกรณีที่เป็นรถกำลังผ่อนอยู่ หรือตัวเล่มอยู่ที่ไฟแนนซ์ สามารถใช้สำเนาแทนได้ โดยจะต้องเห็นรายละเอียดชัดเจนและครบถ้วน
  • หนังสือรับรองการตรวจสภาพรถยนต์ กรณีที่รถมีอายุถึงกำหนด
    • รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป
    • รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป
    • รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป
    • รถจักรยานยนต์ ที่มีอายุใช้งานครบ 5 ปี ขึ้นไป
  • เอกสารส่วนท้ายของ พ.ร.บ. รถยนต์ ทุกครั้งก่อนที่จะไปต่อภาษีรถยนต์ เจ้าของรถจะต้องทำ พ.ร.บ. รถยนต์ หรือประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ก่อน โดยสามารถซื้อ พ.ร.บ. รถยนต์ พร้อมกับต่อภาษีรถยนต์ได้เช่นเดียวกัน
  • เอกสารรับรองการติดแก๊ส กรณีที่รถใช้แก๊ส จะต้องมีเอกสารรับรองการติดแก๊ส

ต่อภาษีรถยนต์ที่กรมการขนส่งทางบก

3 ช่องทางการต่อภาษีรถยนต์

ปัจจุบันเราสามารถต่อภาษีรถยนต์ได้หลากหลายช่องทาง หากว่าเราเตรียมเอกสารทั้งหมดเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ก็ไปต่อภาษีกันได้เลย

1. กรมการขนส่งทางบก

สำหรับผู้ที่อยู่ใกล้กับกรมการขนส่งทางบก หรือสะดวกที่จะเดินทางไปด้วยตัวเอง สามารถไปต่อภาษีที่สำนักงานขนส่ง กรมการขนส่งทางบก ที่อยู่ในพื้นที่ได้เลย ไม่จำกัดว่าเราจะจดทะเบียนรถยนต์ที่จังหวัดใดของประเทศ โดยสามารถต่อภาษีได้ 2 รูปแบบคือ บริการเลื่อนล้อต่อภาษี (Drive Thru for Tax) และ ตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk)

  • สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร จำนวน 5 แห่ง ได้แก่
    • สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 รับผิดชอบในเขตพื้นที่ เขตบางขุนเทียน บางคอแหลม จอมทอง ธนบุรี ราษฎร์บูรณะ คลองสาน สาทร ทุ่งครุ บางบอน และยานนาวา
    • สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 รับผิดชอบเขตตลิ่งชัน บางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ภาษีเจริญ หนองแขม พระนคร บางแค และทวีวัฒนา
    • สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 3 รับผิดชอบเขตพระโขนง ประเวศ สวนหลวง คลองเตย บางนา วัฒนา และบางจาก
    • สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 4 รับผิดชอบเขตมีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง บึงกุ่ม สะพานสูง คันนายาว และคลองสามวา
    • สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5 รับผิดชอบเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ปทุมวัน ดุสิต บางซื่อ บางเขน ดินแดง จตุจักร ลาดพร้าว สายไหม สัมพันธวงศ์ บางรัก พญาไท ห้วยขวาง บางกะปิ ดอนเมือง ราชเทวี หลักสี่ และวังทองหลาง
  • สำนักงานขนส่งจังหวัดของแต่ละจังหวัด

ต่อภาษีรถยนต์ที่กรมการขนส่งทางบก

2. ดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์

ผู้ที่ไม่สะดวกไปที่สำนักงานของกรมการขนส่งทางบก สามารถต่อภาษีได้ง่าย ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ 2 รูปแบบ คือผ่านเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน ดังต่อไปนี้

  • ขั้นตอนการต่อภาษีรถยนต์ผ่านเว็บไซต์
    • ให้ไปที่เว็บไซต์ https://eservice.dlt.go.th จากนั้นให้ Log in เข้าสู่ระบบ หากว่าไม่เคยสมัครมาก่อน ให้ลงทะเบียนเพื่อขอรับรหัสผ่าน
    • ไปที่เมนู “ยื่นชำระภาษีรถยนต์ประจำปี” กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับรถ หลักฐานการเอาประกัน ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 หรือเลือกซื้อ พ.ร.บ. จากระบบได้เลย
    • จากนั้นระบบจะให้เราเลือกช่องทางการชำระเงิน มีทั้งการหักบัญชีเงินฝาก ผ่านบัตรเครดิต/เดบิต และนำไปชำระที่เคาน์เตอร์ ตู้ ATM หรือผ่านแอปฯ ธนาคาร หากว่ายังชำระไม่สำเร็จ สามารถเปลี่ยนช่องทางการชำระเงินได้
    • ตรวจสอบสถานะต่าง ๆ ได้ที่เมนู “ตรวจสอบผลการชำระภาษี/เปลี่ยนช่องทางชำระเงิน”
    • กรมการขนส่งจะส่งใบเสร็จรับเงิน เครื่องหมายแสดงการเสียภาษี และสมุดกรมธรรม์ พ.ร.บ. (กรณีที่ซื้อพร้อมกัน) มายังที่อยู่ที่ได้แจ้งไว้

 

  • ขั้นตอนการต่อภาษีรถยนต์ผ่านแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax
    • ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax
    • ลงทะเบียนใช้งาน โดยกรอกรายละเอียดส่วนตัวให้เรียบร้อย จากนั้นกดปุ่ม “กดเพื่อรับรหัส OTP” เพื่อยืนยันตัวตน
    • เลือกเมนู “ชำระภาษีรถ” แล้วเลือกรูปแบบการชำระภาษี จากนั้นกรอกหมายเลขบัตรประชาชน ประเภทรถ ทะเบียนรถ ข้อมูลประกันภัยรถ (พ.ร.บ.)
    • เลือกวิธีการรับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี
    • ชำระเงินได้ 2 ช่องทาง คือผ่าน แอปฯ SCB Easy App และ QR Code

3. ดำเนินการผ่านตัวแทน

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว สามารถดำเนินการผ่านตัวแทน ดังต่อไปนี้

  • เคาน์เตอร์เซอร์วิส
  • ที่ทำการไปรษณีย์
  • ห้างสรรพสินค้าตามโครงการ “ช้อปให้พอ แล้วต่อภาษี” (Shop Thru for Tax) เปิดเฉพาะเสาร์-อาทิตย์
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการต่อภาษีรถยนต์ประจำปี

นอกจากขั้นตอนการต่อภาษีรถยนต์แล้ว มีสิ่งอื่นที่เราจะต้องรู้เกี่ยวกับการต่อภาษีรถยนต์ประจำปีดังต่อไปนี้

  • การต่อภาษีสามารถต่อล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน สำหรับใครที่กลัวลืมจ่าย สามารถวางแผนไปจ่ายล่วงหน้าได้เลย
  • หากต่อภาษีช้ากว่ากำหนดแม้เพียง 1 วันก็ต้องเสียค่าปรับ โดยจะเสียค่าปรับเดือนละ 1% ของภาษีที่ต้องจ่าย และยิ่งนานยิ่งต้องจ่ายภาษีเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
  • ขาดเกิน 3 ปี ทะเบียนรถอาจจะถูกยกเลิกได้ ต้องไปขอจดทะเบียนรถใหม่ และคืนป้ายทะเบียน ดังนั้น หากว่าเราไม่ได้ใช้งานรถคันดังกล่าว ให้เราแจ้งขนส่งเพื่อระงับการใช้งานจะดีที่สุด
  • ต้องทำ พ.ร.บ. รถยนต์ก่อน ถึงจะต่อภาษีรถยนต์ได้ แต่ว่าเราสามารถซื้อพร้อมกันได้ หากว่าใครยังไม่ได้ทำ พ.ร.บ. รถยนต์ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลไป

สำหรับผู้ที่ถึงกำหนดต้องต่อประกันรถยนต์และชำระภาษีประจำปี สามารถซื้อ พ.ร.บ. พร้อมกับประกันรายวันรถยนต์กับ SOMPO ตามใจ แล้วนำไปต่อภาษีได้เลย ไม่ยุ่งยาก สบายใจ คุ้มค่า สบายกระเป๋า แน่นอน

เช็คเบี้ยประกันรถยนต์ SOMPO ตามใจ

ข้อมูลอ้างอิง

บทความอื่นๆจากซมโปะ