เรื่องควรรู้เกี่ยวกับค่าภาษีรถยนต์
ในทุก ๆ ปี เจ้าของรถยนต์ทุกคันจะต้องจ่ายค่าภาษีรถยนต์ ซึ่งรถแต่ละคันจะมีรายละเอียดการจ่ายภาษีที่แตกต่างกันออกไป วันนี้เราจะมาบอก 10 เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับภาษีรถยนต์มาฝากกัน เพื่อที่จะจ่ายเงินค่าภาษีได้อย่างถูกต้อง ไม่เสี่ยงโดนค่าปรับย้อนหลัง

1. ค่าภาษีรถยนต์แต่ละประเภทต้องเสียเท่าไร

ภาษีรถยนต์แต่ละประเภท แต่ละคัน และแต่ละปีจะเสียไม่เท่ากัน โดยเราสามารถตรวจสอบภาษีที่ต้องจ่ายได้ที่ด้านหลังป้ายภาษีรถยนต์ หรือเว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งโดยทั่วไปมีการคิดอัตราภาษีดังต่อไปนี้

รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง

คำนวณตาม CC รถยนต์ที่ระบุไว้ในเล่มทะเบียนรถ

  • ไม่เกิน 600 CC เสียภาษี 300 บาท
  • ส่วนเกิน 600-1,800 CC เสียภาษี 1.50 บาทต่อ CC
  • ส่วนเกิน 1,800 CC เสียภาษี 4.00 บาท ต่อ CC

นอกจากนี้ยังมีส่วนลดสำหรับรถยนต์ที่มีอายุการใช้งาน 6 ปีขึ้นไป โดยปีที่ 6 จะมีส่วนลด 10% ปีที่ 7 ลด 20% ปีที่ 8 ลด 30% ปีที่ 9 ลด 40% และปีที่ 10 ลด 50%รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง

รถยนต์ส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง

คำนวณตามน้ำหนักรถที่อยู่ในเล่มทะเบียนรถ ดังนี้

  • 0-500 กิโลกรัม เสียภาษี 150 บาท
  • 501-750 กิโลกรัม เสียภาษี 300 บาท
  • 751-1,000 กิโลกรัม เสียภาษี 450 บาท
  • 1,001-1,250 กิโลกรัม เสียภาษี 800 บาท
  • 1,251-1,500 กิโลกรัม เสียภาษี 1,000 บาท
  • 1,501-1,750 กิโลกรัม เสียภาษี 1,300 บาท
  • 1,751-2,000 กิโลกรัม เสียภาษี 1,600 บาท
  • 2,001-2,500 กิโลกรัม เสียภาษี 1,900 บาท
  • 2,501-3,000 กิโลกรัม เสียภาษี 2,200 บาท
  • 3,001-3,500 กิโลกรัม เสียภาษี 2,400 บาท
  • 3,501-4,000 กิโลกรัม เสียภาษี 2,600 บาท
  • 4,001-4,500 กิโลกรัม เสียภาษี 2,800 บาท
  • 4,501-5,000 กิโลกรัม เสียภาษี 3,000 บาท
  • 5,000-6,000 กิโลกรัม เสียภาษี 3,200 บาท
  • 6,000-7,000 กิโลกรัม เสียภาษี 3,400 บาท
  • มากกว่า 7,000 กิโลกรัม เสียภาษี 3,600 บาท

รถยนต์ส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง

รถบรรทุกส่วนบุคคล

คำนวณตามน้ำหนักรถที่อยู่ในเล่มทะเบียนรถ ดังนี้

  • 0-500 กิโลกรัม เสียภาษี 300 บาท
  • 501-750 กิโลกรัม เสียภาษี 450 บาท
  • 751-1,000 กิโลกรัม เสียภาษี 600 บาท
  • 1,001-1,250 กิโลกรัม เสียภาษี 750 บาท
  • 1,251-1,500 กิโลกรัม เสียภาษี 900 บาท
  • 1,501-1,750 กิโลกรัม เสียภาษี 1,050 บาท
  • 1,751-2,000 กิโลกรัม เสียภาษี 1,350 บาท
  • 2,001-2,500 กิโลกรัม เสียภาษี 1,650 บาท
  • 2,501-3,000 กิโลกรัม เสียภาษี 1,950 บาท
  • 3,001-3,500 กิโลกรัม เสียภาษี 2,250 บาท
  • 3,501-4,000 กิโลกรัม เสียภาษี 2,550 บาท
  • 4,001-4,500 กิโลกรัม เสียภาษี 2,850 บาท
  • 4,501-5,000 กิโลกรัม เสียภาษี 3,150 บาท
  • 5,000-6,000 กิโลกรัม เสียภาษี 3,450 บาท
  • 6,000-7,000 กิโลกรัม เสียภาษี 3,750 บาท
  • มากกว่า 7,000 กิโลกรัม เสียภาษี 4,050 บาท

รถประเภทอื่น ๆ จัดเก็บแบบรายคัน

  • รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลและสาธารณะ คันละ 100 บาท
  • รถพ่วงข้างจักรยานส่วนบุคคล คันละ 50 บาท
  • รถพ่วงชนิดอื่น ๆ คันละ 100 บาท
  • รถบดถนน คันละ 200 บาท
  • รถเพื่อการเกษตร คันละ 50 บาท

รถยนต์พลังงานไฟฟ้า

  • รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน ให้เก็บตามน้ำหนักของรถในอัตรารถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน
  • รถไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ ให้เก็บครึ่งหนึ่งของรายคันและน้ำหนัก

2. เอกสารที่ต้องเตรียมในการต่อภาษี มีอะไรบ้าง

ในการต่อภาษีแต่ละครั้ง เจ้าของรถจะต้องเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้

  • หนังสือแสดงการจดทะเบียนรถ (ถ้ามี) หรือใบแทน
  • หลักฐานการจ่าย พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535
  • หลักฐานการตรวจสภาพรถ สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลอายุเกิน 7 ปีขึ้นไป และรถจักรยานยนต์อายุเกิน 5 ปีขึ้นไป

3. เราจ่ายภาษีได้ล่วงหน้ากี่เดือน

เราสามารถต่อภาษีล่วงหน้าได้ 90 วันก่อนวันครบกำหนด หากว่าใครขี้ลืมสามารถตั้งเตือนเอาไว้ หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เพื่อแจ้งเตือนการต่อภาษีรถยนต์ล่วงหน้า

4. ถ้าไม่จ่ายภาษีรถยนต์มีค่าปรับหรือไม่

มีแน่นอน และหากว่าเราขาดต่อภาษีนาน ๆ อาจจะถูกระงับทะเบียนและต้องเสียค่าปรับ ในกรณีที่เราจ่ายค่าภาษีรถยนต์ช้ากว่ากำหนดจะต้องเสียค่าปรับ 1% ต่อเดือน และหากขาดการต่อภาษีมากกว่า 3 ปี ป้ายทะเบียนจะถูกยกเลิก และต้องนำไปคืนกับกรมการขนส่งทางบก หากต้องการต่อทะเบียนใหม่จะต้องแจ้งขอจดทะเบียนใหม่ พร้อมชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

5. รถไม่ได้ใช้งานต้องจ่ายภาษีประจำปีหรือเปล่า

ต้องจ่าย แม้ว่าจะเป็นรถที่จอดทิ้งเอาไว้เฉย ๆ ก็ตาม โดยทำตามขั้นตอนและมีค่าใช้จ่ายเหมือนกับรถคันอื่น ๆ ทุกประการ แต่หากว่าเรามั่นใจว่าจะไม่ใช้รถยนต์คันนี้แล้ว ต้องการจอดรถเอาไว้เฉย ๆ หรือรถสูญหาย ให้เราไปแจ้งการไม่ใช้รถที่สำนักงานขนส่งที่จดทะเบียน

ป้ายภาษีรถยนต์สำหรับรถจักรยานยนต์

6. มีใบสั่งจราจรที่ยังไม่ได้จ่ายค้างอยู่ ต่อภาษีได้หรือไม่

สามารถต่อภาษีได้ แต่จะได้ป้ายชั่วคราวที่มีอายุ 30 วัน หลังจากที่จ่ายค่าปรับแล้ว ถึงค่อยมารับป้ายภาษีตัวจริงได้ แต่หากว่าไม่ยอมจ่ายค่าปรับจราจร อาจจะต้องเสียค่าปรับสูงสุด 2,000 บาท และถูกตัดคะแนนจราจร

7. รถทุกคันต้องตรวจสภาพรถก่อนต่อภาษีหรือไม่

ไม่ทุกคัน เฉพาะรถที่ใช้งานมานานเท่านั้น โดยกฎหมายกำหนดให้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่อายุเกิน 7 ปี ต้องตรวจสภาพรถก่อนต่อภาษีทุกครั้ง

8. วิธีต่อภาษีแบบออนไลน์ต้องทำอย่างไร

ปัจจุบันเราสามารถต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ได้ ตามขั้นตอนง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

ชำระผ่านเว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก

  1. เข้าไปที่เว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบก คลิกที่นี่ จากนั้นลงทะเบียนและ Log in เพื่อใช้งาน
  2. กดเมนู “ยื่นชำระภาษีรถยนต์ประจำปี” และกรอกรายละเอียดต่าง ๆ ให้ครบถ้วน หากยังไม่ได้ซื้อ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถสามารถซื้อออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ได้เลย
  3. ชำระเงินออนไลน์ หรือไปชำระที่เคาน์เตอร์บริการ หรือตู้เอทีเอ็ม
  4. รอรับป้ายภาษีพร้อมใบเสร็จรับเงินตามที่อยู่ที่ได้แจ้งเอาไว้

ชำระผ่านแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax

  1. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันและลงทะเบียนเพื่อใช้งาน
  2. เข้าเมนู “ชำระภาษีรถ” กรอกข้อมูลผู้ครอบครองรถยนต์ เลือกประเภทรถ และกรอกข้อมูลทะเบียนรถ
  3. เลือกสถานที่รับป้ายภาษี สามารถเลือกได้ทั้งทางไปรษณีย์และตู้ Kiosk ของกรมการขนส่งทางบก (เฉพาะในกรุงเทพฯ)
  4. ชำระเงิน

9. ภาษีรถยนต์กับ พ.ร.บ.รถยนต์ เป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่

เป็นคนละอย่างกัน และต้องเสียทุกปีเหมือนกัน

ภาษีรถยนต์ คือ การจ่ายภาษีสำหรับผู้ที่ใช้รถ โดยจะนำเงินภาษีส่วนนี้ไปพัฒนาโครงการด้านคมนาคมขนส่งในประเทศ เช่น การก่อสร้างและดูแลรักษาถนน ระบบสัญญาณจราจร และโครงการอื่น ๆ

ส่วน พ.ร.บ.รถยนต์ หรือชื่อเต็มคือ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 คือ ประกันรถยนต์ภาคบังคับ โดยจะคุ้มครองกรณีบาดเจ็บ เสียชีวิต และเสียชีวิตหลังจากรักษาพยาบาล รวมถึงกรณีสูญเสียอวัยวะ/ทุพพลภาพอย่างถาวร หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง โดยก่อนที่จะต่อภาษีรถยนต์ เราจะต้องทำ พ.ร.บ.รถยนต์ให้เรียบร้อยก่อน จึงจะสามารถต่อภาษีได้

10. เราสามารถไปต่อภาษีวันเสาร์-อาทิตย์ได้หรือไม่

เราสามารถต่อภาษีในวันหยุดได้ตามช่องทางออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังสามารถต่อภาษีที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสได้เช่นเดียวกัน

 

นี่คือข้อควรรู้เกี่ยวกับการต่อภาษีรถยนต์ทั้ง 10 ข้อ ซึ่งการต่อภาษีรถยนต์ตามช่วงเวลาที่กำหนดจะช่วยให้เราไม่ต้องจ่ายค่าปรับเพิ่ม ขับขี่ได้อย่างสบายใจ นอกจากนี้แนะนำให้เพิ่มความอุ่นใจในทุกการขับขี่ ด้วยประกันรถชั้น 3 จาก SOMPO ตามใจ ราคาไม่แพง เลือกระยะเวลาและความคุ้มครองได้ตามใจ โดยไม่มีเงื่อนไขผูกมัด พร้อมบริการรับแจ้งอุบัติเหตุได้ตลอด 24 ชั่วโมง ดูแลทันทีหากเกิดอุบัติเหตุ สนใจซื้อง่าย ผ่านช่องทางออนไลน์ได้เลย

เช็คเบี้ยประกันรถยนต์ SOMPO ตามใจ

ข้อมูลอ้างอิง

  1. ภาษีรถยนต์ ทำไมต้องต่อทุกปี มีวิธีและขั้นตอนอย่างไร. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://portal.info.go.th/

บทความอื่นๆจากซมโปะ