อุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะด้วยเหตุสุดวิสัยต่าง ๆ นานาที่ยากจะคาดเดา รวมถึงความประมาทที่น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่สุด โดยความประมาทก็สามารถแบ่งได้เป็นหลายกรณี ทั้งความประมาทของตัวเอง ความประมาทจากฝ่ายคู่กรณี หรือต่างฝ่ายต่างประมาทจนทำให้เกิดอุบัติเหตุ โดยในกรณีหลังสุด คนมักเรียกสิ่งนี้ว่า “ประมาทร่วม”

ความประมาทร่วมนำไปสู่คำถามที่หลายคนสงสัยว่า “ฝ่ายไหนจะต้องรับผิดชอบ ?” ดังนั้น บทความนี้จึงจะมาช่วยไขปริศนา พาไปหาคำตอบว่าประมาทร่วมคืออะไร มีนิยามตามกฎหมายอย่างไร และรายละเอียดในส่วนความรับผิดชอบมีอะไรบ้าง ติดตามได้เลย

รถชนกันบนท้องถนนเกิดจากความประมาทร่วม

ทำความเข้าใจ “ประมาทร่วม” คืออะไร

ก่อนอื่นขอแก้ไขความเข้าใจผิดกันก่อน เพราะแท้จริงแล้วคำว่า “ประมาทร่วม” นั้นไม่มีอยู่จริงตามนิยามกฎหมาย แต่เป็นสิ่งที่คนใช้เรียกเพื่ออธิบายเหตุการณ์ที่คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ประมาทจนนำมาสู่อุบัติเหตุ เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ จึงนิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า “ประมาทร่วม”

อย่างไรก็ตาม ในทางกฎหมาย ไม่มีการประมาทร่วม แต่กฎหมายจะบังคับใช้บทลงโทษเกี่ยวกับความประมาทเป็นรายบุคคลไป ตามมาตรา 442 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่วางหลักไว้ว่า

“ ถ้าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับ โดยอนุโลม”
ส่วนมาตรา 223 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่วางหลักไว้ว่า

“ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร”

เมื่อนำกฎหมายทั้ง 2 ข้อมาใช้ร่วมกัน ก็จะได้ความหมายในภาษาชาวบ้านว่า ในกรณีที่ต่างฝ่ายต่างมีส่วนประมาททำให้เกิดความเสียหาย ศาลจะอาศัยพฤติการณ์มาวิเคราะห์ตัดสินว่าใครต้องรับผิดมากเท่าไร

3 สาเหตุความประมาทร่วมที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนบ่อยครั้งที่สุด

  • ต่างฝ่ายต่างมึนเมาจากฤทธิ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด : การขับขี่ในขณะมึนเมาจากฤทธิ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด ทำให้ผู้ขับขี่ขาดสติ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการควบคุมยานพาหนะที่ด้อยลง จึงเป็นอันตรายทั้งต่อตนเองและผู้ใช้ถนนคนอื่น ๆ โดยเฉพาะเมื่อคู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างก็มึนเมาแล้ว โอกาสเกิดอุบัติเหตุย่อมทวีคูณขึ้นไปอีก
  • คันหน้าขับช้าแต่แช่เลนขวา ส่วนขับหลังก็พยายามแซงซ้าย : การขับรถช้าแช่เลนขวา และการแซงเลนซ้ายด้วยความเร็วสูง เรียกได้ว่าเป็นการประมาทร่วมที่ต่างฝ่ายต่างทำผิดกฎจราจร อีกทั้งยังก่อให้เกิดอันตรายอย่างมาก เพราะรถที่วิ่งเร็วด้านหลังอาจประเมินความเร็วผิดพลาด ทำให้เกิดการชนท้ายรถคันหน้าได้ง่าย
  • คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายกำลังใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดอุบัติเหตุ : การใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ ไม่ว่าจะสนทนา ส่งข้อความ หรือท่องโซเชียลมีเดีย ล้วนทำให้ผู้ขับขี่ขาดสมาธิ ไม่มีสติ และตอบสนองต่อสถานการณ์บนท้องถนนช้าลง ยิ่งเมื่อคู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างกำลังใช้มือถือ ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น

ผู้หญิงกำลังเสียใจกับอุบัติเหตุจากความประมาทร่วม

แนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์ประมาทร่วม

  • บันทึกภาพและวิดีโอเก็บไว้เป็นหลักฐาน : หลังจากเกิดเหตุ สิ่งแรกที่ควรทำคือ ถ่ายภาพและวิดีโอเก็บไว้เป็นหลักฐาน โดยให้ถ่ายภาพจุดเกิดเหตุ รอยชน สภาพรถของคู่กรณี รอยบาดเจ็บ (ถ้ามี) รวมไปถึงทะเบียนรถของคู่กรณี ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยประกอบการพิจารณาหาสาเหตุของอุบัติเหตุ ใช้เป็นหลักฐานในการยื่นเคลมประกัน รวมถึงใช้ฟ้องศาลเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติม หากคิดว่าตัวเองประมาทน้อย หรือไม่ได้ประมาท
  • ติดต่อบริษัทประกันภัยเพื่อขอความช่วยเหลือ : ติดต่อบริษัทประกันภัยเพื่อแจ้งเหตุ ขอความช่วยเหลือ โดยบอกข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติเหตุ รายละเอียดคู่กรณี และข้อมูลประกันภัย เจ้าหน้าที่ประกันจะแนะนำวิธีการเคลมประกัน รวมถึงการเตรียมเอกสารที่จำเป็น
  • แลกเปลี่ยนข้อมูลประกันภัยกับคู่กรณี : หลังจากถ่ายภาพเก็บหลักฐานแล้ว ให้แลกเปลี่ยนข้อมูลประกันภัยกับคู่กรณี ประกอบไปด้วย ชื่อ-นามสกุล, เลขกรมธรรม์, บริษัทประกัน, เบอร์โทรศัพท์, ข้อมูลรถ โดยข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้บริษัทประกันสามารถติดต่อคู่กรณีเพื่อดำเนินการเคลมประกันต่อไป
  • แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ : ควรแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะกรณีที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือมีทรัพย์สินเสียหาย เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำบันทึกประจำวันสำหรับใช้เป็นหลักฐานทางกฎหมาย

บทเรียนสำคัญจากเรื่องประมาทร่วมก็คือ ต่อให้จะพยายามขับขี่ด้วยความปลอดภัยแค่ไหน แต่บนท้องถนนก็ยังมีคนที่ประมาทอยู่เสมอ และอาจทำให้คุณเดือดร้อนไปด้วย ดังนั้น เพื่อรับมือเหตุไม่คาดฝันอย่างอุ่นใจ แนะนำทำประกันรถยนต์ SOMPO ตามใจ มีให้เลือกทั้งประกันชั้น 1 ประกันรายเดือน 2+ ทั้งแบบประกันรถรายเดือน (Subscription) หรือประกันรถยนต์ระยะสั้น 7 วัน ตอบโจทย์คนใช้รถน้อย สามารถซื้อแบบรายวัน เฉพาะวันที่ใช้รถ ได้โดยไม่มีข้อผูกมัด สามารถปรับแผนประกันและวงเงินได้ตามใจคุณ ซื้อง่าย ซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ได้เลย

เช็คเบี้ยประกันรถยนต์ SOMPO ตามใจ

ข้อมูลอ้างอิง

  1. “ประมาทร่วม” ไม่มีในข้อกฏหมาย . สืบค้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 จาก https://bit.ly/3J1ytub 

About The Author

บทความอื่นๆจากซมโปะ